วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

อารยะธรรมโบราณพันปี ณ ผาแต้ม

อารยะธรรมโบราณพันปี ณ ผาแต้ม ได้รับการ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ครอบคลุมพื้นที่อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทรมีพื้นที่ติดกับประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน มีพื้นที่ประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร
      สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและเนินเขา มีหน้าผาสูงชันซึ่งเกิดจากการแยกตัวของผิวโลก สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีหินทรายลักษณะแปลกตากระจายอยู่ทั่วบริเวณ มีพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงามขึ้นอยู่ตามลานหิน

     การเดินทางจากอำเภอโขงเจียมใช้เส้นทาง 2134 ต่อด้วยเส้นทาง 2112 แล้วแยกขวาไปผาแต้มอีกราว 5 กิโลเมตร รวมระยะทางจากโขงเจียมประมาณ 18 กิโลเมตร สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ ได้แก่


เสาเฉลียง อยู่ก่อนถึงผาแต้มประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นเสาหินธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำและลมนับล้านปี มีลักษณะคล้ายดอกเห็ดเรียงรายกันอยู่มากมาย ซึ่งหินดังกล่าวจะปรากฏเห็นซากเปลือกหอย กรวด ทราย อยู่ในเนื้อหิน ซึ่งนักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า เมื่อประมาณล้านกว่าปีมาแล้ว บริเวณนี้คงจะเป็นทะเลมาก่อน ชาวบ้านบริเวณนี้เรียกเสาหินที่คล้ายดอกเห็ดนี้ว่า “เสาเฉลียง” ซึ่งแผลงมาจากคำว่า “สะเลียง” ที่หมายถึง “เสาหิน”

ผาแต้มและผาขาม เป็นหน้าผาสูงที่สวยงามตามธรรมชาติ บริเวณด้านล่างของหน้าผามีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏเรียงรายอยู่ เป็นระยะ มีอายุไม่ต่ำกว่าสามพันถึงสี่พันปี ทางอุทยานฯ ได้ทำทางเดินจากหน้าผาด้านบนลงไปชมภาพเขียนสีเหล่านี้ที่หน้าผาด้านล่าง ระยะทางประมาณ 500 เมตร


     ภาพ เขียนจะอยู่บนผนังหน้าผายาวติดต่อกันประมาณ 170 เมตร ซึ่งเป็นมุมต่ำกว่า 90 องศา มีภาพทั้งหมดประมาณ 300 ภาพ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ สัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ สัญลักษณ์ และคน ด้านตรงข้ามผาแต้มคือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน

     ด้วยเหตุนี้ทำให้ผาแต้ม เป็นจุดชมวิวที่สวยงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจจะชมพระ อาทิตย์ขึ้นก่อนที่แห่งใดในประเทศไทย เช่นเดียวกันกับที่หมู่บ้านเวินบึกที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงไม่ไกล จากบริเวณแม่น้ำสองสีมากนัก ซึ่งทุกวันนี้จะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ถ้ำมืด ตั้งอยู่ที่บ้านซะซอม ตามทางหลวงหมายเลข 2112 เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านทุ่งนาเมือง ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นถ้ำขนาดกว้าง 4 เมตร สูง 6 เมตร ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปไม้แกะสลักเรียงรายกันมากมาย แสดงว่าคงจะเคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนามาก่อน

น้ำตกสร้อยสวรรค์ ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2112 ห่างจากตัวอำเภอโขงเจียมประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่เกิดจากลำธาร 2 สายคือห้วยสร้อยและห้วยไผ่ที่ไหลจากหน้าผาคนละมาบรรจบกันซึ่งสูงประมาณ 20 เมตร มองดูคล้ายสร้อยที่แขวนคอ บริเวณน้ำตกเต็มไปด้วยต้นไม้และดอกไม้นานาพรรณมีมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว น้ำตกสร้อยสวรรค์จะสวยงามมากในช่วงปลายฤดูฝนเช่นเดียวกับน้ำตกอื่น ๆ ในบริเวณนี้

น้ำตกทุ่งนาเมือง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2112 ห่างจากน้ำตกสร้อยสวรรค์ ประมาณ 13 กิโลเมตร โดยมีทางแยกขวาจากบ้านนาโพธิ์กลางไป 10 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลางที่มีความสวยงาม ไหลลดหลั่นลงมาตามโขดหิน ชั้นบนสูงสุดประมาณ 25 เมตร บริเวณโดยรอบมีดอกไม้ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม-ธันวาคม

น้ำตกแสงจันทร์ (น้ำตกรู) ก่อนถึงน้ำตกทุ่งนาเมือง 1 กิโลเมตร มีทางแยกขวาที่บ้านทุ่งนาเมืองไปน้ำตกแสงจันทร์ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงามและมีลักษณะพิเศษ เกิดจากลำห้วยเล็ก ๆ บนลานหินไหลลอดผ่านหน้าผาหินที่มีลักษณะเป็นรูลงสู่เพิงผาด้านล่าง หากเดินทางมาชมตอนช่วงเที่ยงวัน ซึ่งแสงอาทิตย์ลอดผ่านรูพอดีจะมองเห็นสายน้ำตกเหมือนแสงจันทร์


ป่าดงนาทาม อยู่ในบริเวณภูนาทามทางตอนเหนือของอุทยานฯ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 36 กิโลเมตร การท่องเที่ยวที่ป่าดงนาทามเป็นลักษณะการเดินป่าชมธรรมชาติป่าไม้ ภูผาและแม่น้ำโขง ซึ่งจุดที่น่าสนใจได้แก่ ลานหิน พลานถ้ำไฮ เสาเฉลียงคู่ สนสองใบ น้ำตกห้วยพอก ผาชนะได (จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยาม) ผากำปั่น ผาหินแตก น้ำตกกวางโตน หินโยกมหัศจรรย์ (มีน้ำหนัก 50 ตันแต่โยกได้ด้วยคนเดียว) ภูจ้อมก้อม ถ้ำปาติหารย์ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ตามหลืบผา เป็นต้น

    สำหรับการท่องเที่ยวตามฤดูกาลต่าง ๆ ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน จะเหมาะในการชมดอกไม้ตามลานหินเช่น เช่น หยาดน้ำค้าง แดงอุบล เอนอ้า เหลืองพิสมร และทุ่งดอกไม้ชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้แก่ ดุสิตา สร้อยสุวรรณา มณีเทวา ทิพเกสร สรัสจันทร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี น้ำตกที่มีน้ำมากช่วงกันยายนถึงธันวาคมและทะเลหมอกริมโขง ส่วนในช่วงเดือนฤดูแล้งมกราคม-มีนาคม จะเหมาะในการชมป่าไม้เปลี่ยนสี ดอกไม้หน้าแล้ง อาทิ ต้นรัง ตะแบกเลือด พุดผา ช้างน้าว และล่องเรือชมทิวทัศน์สองฝั่งลำน้ำโขงระหว่างบ้านปากลา-คันท่าเกวียน

     นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดการเดินป่าดงนาทามได้ที่ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติผาแต้ม หรือที่อบต.นาโพธิ์กลาง (โทร. 0 4538 1063)
วัดภูอานนท์ อยู่ ทางทิศเหนือของบ้านซะซอม ห่างจากถนนหมายเลข 2112 ที่บ้านนาโพธิ์กลาง ประมาณ 10 กิโลเมตร รถยนต์เข้าถึงสะดวก ภายในบริเวณวัดมีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ เช่น ลานหิน รอยเท้าใหญ่ ตุ่มหินธรรมชาติ ภาพเขียนสีศิลปะถ้ำ เป็นต้น เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวชมธรรมชาติในช่วงสั้นๆ

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ยังไม่มีบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้ประสงค์จะค้างแรมในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มต้องเตรียมอุปกรณ์การพักแรมมา เองและต้องกางเต็นท์ในที่ซึ่งอุทยานฯ จัดเตรียมไว้ให้ นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อได้ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ตู้ปณ. 5 อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี 34220 โทร. 0 4524 9780 ,0 4531 8026 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th


สัมผัสหมอกหนาที่ภูทับเบิก

สัมผัสหมอกหนาที่ภูทับเบิก

ตั้ง อยู่ที่บ้านทับเบิก ตำบลวังบาล ห่างจากอำเภอหล่มเก่า 40 กิโลเมตร ตามเส้นทางจากหล่มเก่าไปภูหินร่องกล้า หรือห่างจากตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ 90 กิโลเมตร ภูทับเบิกมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,768 เมตร เป็นจุดที่สูงที่สุดของเพชรบูรณ์

     มีสภาพภูมิประเทศที่สวยงามด้วยธรรมชาติแบบทะเลภูเขา มีอากาศบริสุทธิ์ สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี เนื่องจากร่องลมเย็นจากเทือกเขาหิมาลัยและอยู่บนที่สูง จึงสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยช่วงเช้าจะมองเห็นกลุ่มเมฆ และทะเลหมอกตัดกับยอดเทือกเขาเพชรบูรณ์

     นอกจากนี้ภูทับเบิกยังเป็นสถานที่ที่สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ คือเป็นจุดรองรับน้ำฟ้ากลางหาว (เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542) เพื่อนำไปรวมเป็นน้ำเพชรน้อมเกล้าถวายเป็นน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542


     ปัจจุบันภูทับเบิกเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งได้อพยพมาอาศัยอยู่ที่บ้านทับเบิก หมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 16 โดยอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยอาชีพทำการเกษตรแบบขั้นบันไดตามเชิงเขา

    ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะพบเห็นไร่กะหล่ำปลีอยู่สองข้างถนนสู่ทับเบิกสวยงาม ในราวเดือนธันวาคม-มกราคม จะมีดอกซากุระหรือนางพญาเสือโครงสีชมพูบานสะพรั่งไปทั้งภูเขา นอกจากนี้ในยามค่ำคืนยังมองเห็นแสงไฟระยิบระยับจากบ้านเรือนในอำเภอหล่มสัก ที่อยู่เบื้องล่าง เปรียบได้กับ “ดาวบนดิน”

     จากสภาพดังกล่าว ทำให้ภูทับเบิกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวที่นิยมสัมผัสบรรยากาศที่หนาวเย็น วิถีชีวิตชาวเขา และแหล่งธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ภายใต้คำกล่าวที่ว่า “นอนทับเบิก สัมผัสความหนาว ดูดาวบนดิน” สิ่งอำนวยความสะดวก บริเวณหมู่บ้านทับเบิกและจุดชมวิว มีบ้านพัก เต็นท์ และร้านอาหารเปิดบริการแก่นักท่องเที่ยว


     การเดินทาง สู่ภูทับเบิก จากเพชรบูรณ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 ประมาณ 40 กิโลเมตร ถึงสี่แยกหล่มสัก ตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 203 อีก 13 กิโลเมตร พบป้ายบอกทางไปอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตามทางหลวง 2011 และทางหลวงหมายเลข 2331 อีก 40 กิโลเมตร ถึงด่านเก็บค่าธรรมเนียมของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

     จากตรงนี้มีทางแยกขวาเข้าหมู่บ้านทับเบิกไปอีก 6 กิโลเมตร เส้นทางจากหล่มเก่ามาภูทับเบิกจะสูงชันและคดเคี้ยวมาก รถบัสไม่สามารถขึ้นได้ ผู้ที่ใช้รถยนต์หรือรถตู้ ควรขับรถด้วยความระมัดระวังอีกเส้นทางหนึ่งใช้เส้นทางด้านอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ผ่านอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เลยที่ทำการอุทยานฯมาประมาณ 24 กิโลเมตร จะถึงภูทับเบิก หากขับรถต่อไปจะมาบรรจบกับเส้นทางที่จะลงไปยังอำเภอหล่มเก่า
ขอบคุณ
http://www.tat.or.th/

ดอยอินทนนท์ หนาวนี้ต้องไป

ดอยอินทนนท์ หนาวนี้ต้องไป
แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” ดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา

    ดอยอินทนนท์นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยซึ่งพาดผ่านจากประเทศเนปาล ภูฐาน พม่า และมาสิ้นสุดที่นี่ สิ่งที่น่าสนใจของดอยนี้ไม่เพียงแต่เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศเท่านั้น แต่สภาพภูมิประเทศและสภาพป่าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมเกือบทั้งวัน และบางครั้งน้ำค้างยังกลายเป็นน้ำค้างแข็ง สิ่งต่าง ๆเหล่านี้เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้มีผู้มาเยือนที่นี่อย่างไม่ขาดสาย
      การเดินทาง ระยะทางจากตัวเมืองขึ้นไปจนถึงยอดดอยอินทนนท์ประมาณ 106 กิโลเมตร ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่-จอมทอง ถึงหลักกิโลเมตรที่ 57 ก่อนถึงอำเภอจอมทอง ๑ กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ ระยะทาง 48 กิโลเมตรถึงยอดดอยอินทนนท์ เป็นถนนลาดยางอย่างดีแต่ทางค่อนข้างสูงชัน รถที่นำขึ้นไปจะต้องมีสภาพดี ผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถนั่งรถสองแถวสายเชียงใหม่-จอมทองบริเวณประตู เชียงใหม่ จากนั้นขึ้นรถสองแถวที่หน้าวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารหรือที่น้ำตกแม่กลาง ซึ่งจะเป็นรถโดยสารประจำทางไปจนถึงที่ทำการอุทยานฯตรงหลักกิโลเมตรที่ ๓๑ และหมู่บ้านใกล้เคียง แต่หากต้องการจะไปยังจุดต่าง ๆต้องเหมาไปคันละประมาณ 800 บาท


    มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 9 ของเส้นทางหมายเลข 1009 มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ และมีนิทรรศการเกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ป่า และอื่น ๆ

    บริเวณที่ทำการมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม สำรองที่พักล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. ๐ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐ หรือ เว็บไซต์ www.dnp.go.th อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โทร. ๐ ๕๓๓๕ ๕๗๒๘, ๐ ๕๓๓๑ ๑๖๐๘ เว็บไซต์ www.doiinthanon.com


    ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท

สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ

    น้ำตกแม่ยะ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามมากแห่งหนึ่ง เพราะน้ำซึ่งไหลลงมาจากหน้าผาที่สูงชัน 280 เมตร ลงมากระทบโขดหินเป็นชั้น ๆ เหมือนม่าน แล้วลงไปรวมกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง น้ำใสเย็นเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งบริเวณรอบ ๆ น้ำตกเป็นป่าเขาอันสงบเงียบ และมีศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวตั้งอยู่ด้วย บริเวณน้ำตกสะอาดและจัดการพื้นที่ได้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไป 14 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าเข้าไปอีก 200 เมตร

    น้ำตกแม่กลาง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียว สูงประมาณ 100 เมตร ต้นน้ำอยู่บนดอยอินทนนท์ มีน้ำไหลตลอดปี มีความสวยงามตามธรรมชาติ การเดินทาง จากทางแยกเข้าทางหลวง 1009 ไปอีก 8 กิโลเมตร แยกซ้าย 500 เมตร เป็นทางลาดยางตลอด 

    ถ้ำบริจินดา ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 8-9 ของทางหลวงหมายเลข 1009 ใกล้กับน้ำตกแม่กลาง จะเห็นทางแยกขวามือมีป้ายบอกทางไปถ้ำบริจินดา ภายในถ้ำลึกหลายกิโลเมตร เพดานถ้ำมีหินงอกหินย้อย หรือชาวเหนือเรียกว่า “นมผา” สวยงามมาก มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในถ้ำด้วย นอกจากนั้น ยังมีธารหิน เมื่อมีแสงสว่างมากระทบจะเกิดประกายระยิบระยับดังกากเพชรงามยิ่งนัก ลักษณะของถ้ำเป็นถ้ำทะลุสามารถมองเห็นภายในได้ถนัด เพราะมีอุโมงค์ซึ่งแสงสว่างลอดเข้ามา บริเวณปากถ้ำจะมีป้ายขนาดใหญ่ตั้งอยู่ อธิบายประวัติการค้นพบถ้ำนี้

    น้ำตกวชิรธาร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมชื่อ “ตาดฆ้องโยง” น้ำจะดิ่งจากผาด้านบนตกลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ในช่วงที่มีน้ำมากละอองน้ำจะสาดกระเซ็นไปทั่วบริเวณรู้สึกได้ถึงความเย็นและ ชุ่มชื้น และสะพานไม้ที่ทอดยาวเข้าไปหาหน้าผานั้นจะเปียกลื่นอยู่ตลอดเวลา แต่หากเดินเข้าไปจนสุดจะได้สัมผัสกับความงามของน้ำตกมากที่สุด การเดินทาง จากเชิงดอยอินทนนท์ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 21 จะเห็นป้ายบอกทางแยกขวาเข้าน้ำตก ลงไป 500 เมตร ถนนจะถึงที่ตัวน้ำตก อีกเส้นทางหนึ่งซึ่งเป็นเส้นทางเดิมอยู่เลยจากทางแยกแรกไปประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามป้ายและเดินจากลานจอดรถลงไปอีก 351 เมตร หากใช้เส้นทางนี้จะได้สัมผัสกับความงามของธรรมชาติรอบด้านตลอดทางเดิน

    น้ำตกสิริภูมิ ไหลมาจากหน้าผาสูงชัน เป็นทางยาวสวยงามมาก สามารถมองเห็นได้จากบริเวณที่ทำการอุทยานฯ เป็นสายน้ำตกแฝดไหลลงมาคู่กันแต่เดิมเรียกว่า “เลาลึ” ตามชื่อของหัวหน้าหมู่บ้านม้งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ น้ำตกสิริภูมิตั้งอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร แต่รถไม่สามารถเข้าไปใกล้ตัวน้ำตกได้ นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าเข้าไปบริเวณด้านล่างของน้ำตก

    โครงการหลวงดอยอินทนนท์ ตั้งอยู่ในบริเวณดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์เป็นสถานีวิจัยดอกไม้เมืองหนาวเป็นหลัก พรรณไม้ที่ปลูกมากที่สุดคือเบญจมาศ เพราะมีสีสันสดใส นอกจากนั้นยังมีโครงการวิจัยสตรอว์เบอรรี โครงการศึกษาและรวบรวมพันธุ์เฟินชนิดต่างๆ โครงการวิจัยกาแฟ โครงการวิจัยฝรั่งคั้นน้ำ ไม้ผล เช่น สาลี่ พลับ กีวี ทิบทิมเมล็ดนิ่ม ฯลฯ ไม้ดอก เช่น แกลดิโอลัส กุหลาบ เยอบีรา ฯลฯ ผัก เช่น พริกหวาน มะเขือเทศ เซเลอรี ฯลฯ

    ยังมีพืชผักสมุนไพร และไม้ผลขนาดเล็ก ซึ่งจัดจำหน่ายภายใต้ตรา "ดอยคำ" รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาเทร้าต์สายรุ้ง นอกจากนี้ยังมีประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจ ได้แก่ การทำนาข้าวขั้นบันไดของเผ่ากะเหรี่ยง ประเพณีกินวอของชาวเผ่าม้งบ้านขุนกลาง และแหล่งท่องเที่ยวเพื่อชมความงามธรรมชาติรอบๆพื้นที่ รวมทั้งกิจกรรมดูนกและชมดาว โครงการหลวงฯ ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านขุนกลาง ตำบลห้วยหลวง เดินทางตามเส้นทางสู่ดอยอินทนนท์ ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรังเข้าสู่โครงการฯ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร โครงการหลวงฯนี้ รับผิดชอบส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่กะเหรี่ยงและม้งในพื้นที่

    พระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 41.5 ทางด้านซ้ายมือ สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทย โดยพระมหาธาตุนภเมทนีดล สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2530 และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ สร้างถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพ.ศ. 2535 พระมหาธาตุทั้ง 2 องค์นี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงกัน คือ ฐานเป็นรูป 12 เหลี่ยม มีระเบียงแก้วโดยรอบเป็น 2 ระดับ ยอดปลีขององค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชา รอบบริเวณสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์ได้อย่างสวยงาม

     ยอดดอยอินทนนท์ จุดสิ้นสุดของทางหลวงหมายเลข 1009 เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย (2,565 เมตร) มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี เป็นที่ตั้งสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทยและเป็นที่ประดิษฐานสถูปเจ้าอิน ทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้ายซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้และหวงแหนดอย หลวงเป็นอย่างมากต้องการที่จะอนุรักษ์ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน ท่านผูกพันกับที่นี่มากจึงสั่งว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วให้แบ่งเอาอัฐิส่วน หนึ่งมาไว้ที่นี่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยว อยู่บริเวณใกล้กับยอดดอย แสดงนิทรรศการเรื่องราวของดอยอินทนนท์จากอดีตถึงปัจจุบัน ให้ความรู้ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ ทางชีววิทยา ป่าไม้ สิ่งมีชีวิต ซึ่งบางชนิดหาดูได้ที่นี่แห่งเดียวในเมืองไทย ผู้มาเยือนจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย

    น้ำตกห้วยทรายเหลือง เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลแรงตลอดปี และไหลจากหน้าผาลงมาเป็นชั้น ๆ เข้าทางเดียวกับน้ำตกแม่ปาน ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่แจ่มประมาณ 16 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงหมายเลข 1009 ตรงด่านตรวจกิโลเมตรที่ 38 ไปตามทางหลวงหมายเลข 1192 สายอินทนนท์-แม่แจ่ม ประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางไปน้ำตก เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นทางดินแดงในช่วงหน้าฝนทางลำบากมากต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ

    น้ำตกแม่ปาน เข้าทางเดียวกับน้ำตกห้วยทรายเหลือง แต่อยู่เลยไปอีก 500 เมตร และจากจุดจอดรถต้องเดินต่อไปอีก 800 เมตร ใช้เวลาประมาณ 10 นาที จึงจะถึงตัวน้ำตก น้ำตกแม่ปานนับว่าเป็นน้ำตกที่ยาวที่สุดของเชียงใหม่ก็ว่าได้ น้ำจะตกลงมาจากหน้าผาซึ่งสูงกว่า 100 เมตร เป็นทางยาว ถ้ามองดูแต่ไกลจะเห็นสายน้ำยาวสีขาวตัดกับสีเขียวของต้นไม้ทำให้ดูเด่น น้ำที่ตกลงมายังเบื้องล่างกระทบโขดหินแตกเป็นฟองกระจายไปทั่วบริเวณทำให้มี ความชุ่มชื้น เบื้องล่างมีแอ่งน้ำรองรับอยู่ สามารถพักผ่อนลงอาบเล่นได้

    เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนดอยอินทนนท์ กิ่วแม่ปาน ทางเข้าอยู่กิโลเมตรที่ 42 ด้านซ้ายมือ ระยะทางเดิน 3 กิโลเมตร เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติแท้จริง ระหว่างทางเดินจะพบป่าดิบเขา (Hill Evergreen) ก่อนผ่านเข้าสู่ทุ่งหญ้าซึ่งเคยเป็นพื้นที่ป่าถูกทำลาย เพื่อเป็นการศึกษาลักษณะการเกิดผลกระทบต่อเนื่องบริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่ ป่าสมบูรณ์กับพื้นที่ถูกทำลาย หลังจากนั้นทางเดินจะเลาะริมผามีไอหมอกปลิวผ่านตลอดเวลา จะพบดอกกุหลาบพันปี หรือ Rhododendron (ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ขึ้นตามป่าในระดับสูง มีพันธุ์ดอกสีขาวและสีแดง เวลาออกดอกช่วงแรกมีลักษณะเหมือนปลีกล้วย ก่อนที่จะบานเต็มต้นในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ พบมากในแถบเทือกเขาหิมาลัยและเป็นไม้ประจำชาติของเนปาลด้วย) มองลงไปยังเบื้องล่างจะพบทัศนียภาพที่งดงามของอำเภอแม่แจ่ม

     การใช้เส้นทางนี้ต้องลงทะเบียนขอรับใบอนุญาตให้ใช้เส้นทางโดยติดต่อที่ศูนย์ ประชาสัมพันธ์อุทยานฯ และควรจัดกลุ่มละไม่เกิน 15 คน ทางอุทยานฯไม่อนุญาตให้นำอาหารเข้าไปรับประทานในเส้นทางในช่วงฤดูฝน และจะปิดเส้นทางเพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัวไม่อนุญาติให้เข้าไปท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 30 ตุลาคม ของทุกปี เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานแห่งนี้ ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2545 เพราะมีการจัดการที่เน้นความเป็นธรรมชาติ ระหว่างทางมีป้ายสื่อความหมายให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว และประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการนำเที่ยว อ่างกาหลวง เส้นทางนี้สำรวจวางแนวและออกแบบเส้นทางเดินโดย คุณไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ นักสัตววิทยาและอาสาสมัครชาวแคนาดาประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ทำงานทุ่มเทให้กับอินทนนท์ และได้เสียชีวิตที่นี่ด้วยโรคหัวใจ เส้นทางนี้มีระยะทาง 1,800 เมตร พื้นที่นี้เป็นหนองน้ำซับในหุบเขา จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ ป่าดิบเขาระดับสูง ลักษณะของพรรณไม้เขตอบอุ่นผสมกับเขตร้อนที่พบเฉพาะในระดับสูง การสะสมของอินทรียวัตถุในป่าดิบเขา

     ลักษณะอากาศเฉพาะถิ่น พืชที่อาศัยเกาะติดต้นไม้ ลักษณะของต้นน้ำลำธาร และลักษณะของต้นไม้บนดอยอ่างกา เช่นต้นข้าวตอกฤาษีที่ขึ้นตามพื้นดิน (ข้าวตอกฤาษี เป็นพืชที่ต้องการความอุดมสมบูรณ์สูง จะขึ้นในที่สูงกว่า 2,000 เมตรเท่านั้น และเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มชื้น อากาศเย็น) กุหลาบพันปี เป็นต้น ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ อีกหลายเส้น เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติ กิโลเมตรที่ 38 และ เส้นทางศึกษาธรรมชาติกลุ่มน้ำตกแม่ปาน เป็นต้น แต่ละเส้นใช้เวลาในการเดินต่างกันตั้งแต่ 20 นาที – 7 ชั่วโมง และเหมาะที่จะศึกษาสภาพธรรมชาติที่ต่างกันด้วย ศึกษารายละเอียดเส้นทางได้จากที่ทำการอุทยานฯ และจะต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางจากที่ทำการฯ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31

    เพื่อป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การใช้สถานที่เพื่อการพักค้างแรมหรือจัดกิจกรรมอื่น ๆนอกเหนือจากบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ต้องขออนุญาตจากหัวหน้าอุทยานฯ เป็นลายลักษณ์อักษร

    กิจกรรมดูนกบนดอยอินทนนท์ ศูนย์บริการข้อมูลนกอินทนนท์ที่ร้านลุงแดง ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 3 หน่วยจัดการต้นน้ำแม่กลาง ให้บริการด้านข้อมูลนกในดอยอินทนนท์ เช่น สมุดบันทึกการพบนกในดอยอินทนนท์ ภาพวาดลายเส้นของนักดูนก แผนที่เส้นทางดูนกดอยอินทนนท์ ภาพถ่าย สไลด์เกี่ยวกับนก ฯลฯ ให้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

    ช่วงที่นักดูนกนิยมมาดูนกกันเป็นฤดูหนาว นอกจากจะได้พบนกประจำถิ่นแล้ว ยังสามารถพบนกอพยพ เช่น นกปากซ่อมดง นกอุ้มบาตร นกเด้าลมหลังเทา นกเด้าลมหลังเหลือง นกเด้าลมดง นกเด้าลมหัวเหลือง นกจาบปีกอ่อนเล็ก นกจาบปีกอ่อนหงอน นกจาบปีกอ่อนสีแดง นกเดินดงสีน้ำตาลแดง ฯลฯ ทางศูนย์ฯจะบริการให้คำแนะนำตลอดจนเป็นสถานที่พบปะสนทนาระหว่างนักดูนก นักศึกษาธรรมชาติและบุคคลทั่วไป เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ดีต่อการอนุรักษ์และรักษาสภาพธรรมชาติ ทำให้ทราบถึงแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของนกและสัตว์ป่าในดอยอินทนนท์ ให้คงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

ขอบคุณข้อมูล
http://www.tat.or.th/

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี

ตั้ง อยู่ที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ในตัวเมืองพิษณุโลก เป็นที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวบ้านในอดีต ตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ จนถึงชิ้นใหญ่ เช่น เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องวิดน้ำด้วยมือ เครื่องสีข้าว เครื่องมือดักจับสัตว์ รวมกันแล้วนับหมื่นชิ้น จนได้รับการยอมรับว่าเป็นขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย และได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยประเภทหน่วยงานส่งเสริมและ พัฒนาการท่องเที่ยว เมื่อปี 2541

     จ่าสิบเอก ดร. ทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ เป็นผู้ที่มีฝีมือในทางประติมากรรม และได้รับการเชิดชูเกียรติมากมาย ท่านได้รับการยกย่องให้เป็น บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาการช่างฝีมือ แขนงช่างหล่อ ประจำปี 2526 และได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒและมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งการประกาศเกียรติคุณเป็น คนดีศรีพิษณุโลก พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ โดยเก็บค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท ตั้งแต่เวลา 8.30–16.30 น. โทร. 0 5521 2749, 0 5530 1668 ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ เป็นโรงหล่อพระบูรณะไทย ติดต่อเข้าชมการหล่อพระล่วงหน้า โทร. 0 5525 8715

ท้าลมหนาว ชม ทุ่งบัวตองดอยแม่อูคอ

ท้าลมหนาว ชม ทุ่งบัวตองดอยแม่อูคอ


ตั้ง อยู่หมู่ที่ 6 ตำบลแม่อูคอ อำเภอขุนยวม ตามเส้นทางหมายเลข 108 (แม่ฮ่องสอน - ขุนยวม) ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายตามทางหลวงสาย 1263 เข้าสู่ทุ่งบัวตองอีก 26 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง
    มีพื้นที่ครอบคลุมเป็นเขากว้างประมาณ 1 พันไร่ อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการพัฒนาป่าไม้ที่สูง หน่วยที่ 5 กองอนุรักษ์ต้นน้ำ

    ดอกบัวตองที่นี่เมื่อบานพร้อมๆ กันในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม จะเหลืองอร่ามปกคลุมทั่วทั้งภูเขา มีความสวยงามมาก

เที่ยวทุ่งดอกทานตะวันบาน ไม่ไปไม่รู้

เที่ยวทุ่งดอกทานตะวันบาน ไม่ไปไม่รู้ บริเวณเขต ติดต่อระหว่างจังหวัดลพบุรี และสระบุรี ตามเส้นทางสายพัฒนานิคม-วังม่วง มีการทำไร่ทานตะวันกันมาก รวมทั้งในอีกหลายอำเภอของสระบุรี เช่น อำเภอพระพุทธบาท เฉลิมพระเกียรติ แก่งคอย หนองโดน และมวกเหล็ก แต่ที่อำเภอวังม่วงจะมีพื้นที่ปลูกมากที่สุด

     ในช่วงฤดูหนาวราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ริมฝั่งถนนจะสะพรั่งไปด้วยสีเหลืองของดอกทานตะวัน เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้ผ่านมาบริเวณนี้เป็นอย่างมาก สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เกษตรอำเภอวังม่วง โทร. 0 3635 9021 ทานตะวันเป็นพืชตระกูลถั่ว ประเภทเดียวกับเบญจมาศ คำฝอย ดาวเรือง บัวตอง ซึ่งเป็นพืชล้มลุกชอบแสงแดดจัด ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ต้องการน้ำน้อย และเป็นพืชอายุสั้น นิยมปลูกหลังฤดูฝนประมาณเดือนกันยายนเป็นต้นไป จึงเหมาะแก่การปลูกทดแทนข้าวนาปรังหรือพืชชนิดอื่นๆ

     ทานตะวันเป็นพืชเศรษฐกิจที่นอกจากจะได้ประโยชน์จากการเก็บเกี่ยวแล้ว ยังนำมาซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะเมื่อดอกทานตะวันบานนับพันนับหมื่นไร่ กลายเป็นท้องทุ่งดอกไม้สีทองอร่ามที่งดงามกว้างไกลสุดสายตา สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวนับแสนคนจากทั่วประเทศให้เดินทางมาเที่ยวชมและ ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก


    เกษตรกรจะทำการเพาะปลูกหรือหว่านเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายนเป็น ต้นไป ดอกทานตะวันจะบานและให้เมล็ดเมื่ออายุครบ 55-60 วัน และจะบานสวยงามเต็มที่ประมาณ 15 วัน หลังจากนั้นเกษตรกรจะปล่อยให้เมล็ดทานตะวันแห้งคาต้น แล้วจึงเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต

    เมล็ดทานตะวันสามารถให้น้ำมันที่มีคุณภาพในปริมาณสูงถึง 45% ต่อน้ำหนัก และยังมีคุณค่าอาหารอื่นๆ อีกมาก เช่น โปรตีน แป้ง เกลือแร่ โดยไม่มีคอเลสเตอรอล เพราะเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น กรดลิโนเลอิค กรดอาซิโนอิค สูงถึง 60-70 % ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดไม่สูงเกินไป ทำให้ลดปัญหาโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด

     นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายอีกมาก เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ เค บี 2 อี และ ดี กากเมล็ดพืชที่เหลือจากการสกัดน้ำมัน สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ น้ำมันทานตะวันนอกจากจะใช้บริโภคในรูปของน้ำมันสลัดและปรุงอาหารแล้ว ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเนยเทียม สบู่ สีน้ำมันขัดเงา ส่วนเมล็ดสามารถนำไปกะเทาะเปลือกและอบโรยเกลือเป็นอาหารขบเคี้ยวที่ให้ ประโยชน์แก่ร่างกายได้อีกด้วย

    ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทานตะวันมีอยู่หลายอย่าง อาทิ เมล็ดทานตะวันอบแห้ง คุ้กกี้ทานตะวัน ข้าวเกรียบ ข้าวตังทานตะวัน น้ำผึ้งดอกทานตะวัน เกสรผึ้ง นมผึ้ง เป็นต้น

ธรรมชาติแสนงาม ณ บึงบอระเพ็ด

ธรรมชาติแสนงาม ณ บึงบอระเพ็ด เป็นบึง น้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 132,737 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอท่าตะโก และอำเภอชุมแสง ในอดีตบึงบอระเพ็ดได้ชื่อว่าเป็น "ทะเลเหนือ" หรือ "จอมบึง" เพราะมีสัตว์และพันธุ์พืชน้ำอยู่มากมาย
    จากการสำรวจพบว่ามีสัตว์อาศัยอยู่ประมาณ 148 ชนิด พืช 44 ชนิด เคยพบสัตว์หายากที่นี่ ได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ปลาเสือตอ ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมจะมีนกเป็ดน้ำจำนวนมากอพยพมาที่บึงแห่งนี้ นกประจำถิ่น ได้แก่ อีโก้ง อีแจว ปากห่าง ซึ่งจะวางไข่ในเดือนกรกฎาคม-มีนาคม

    พื้นที่บางส่วนได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า บึงบอระเพ็ดอยู่ในความดูแลของกองอนุรักษ์สัตว์ป่า และยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา โดยกรมประมงได้มาตั้งสถานีพัฒนาประมงบึงบอระเพ็ดไว้ด้วย


การเดินทาง จากตัวเมืองนครสวรรค์ไปบึงบอระเพ็ด สามารถไปได้หลายเส้นทาง
  ทางเรือ จากตลาดท่าน้ำเทศบาลเมืองนครสวรรค์ไปตามลำน้ำผ่านขึ้นไปทางเหนือ ประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงปากคลองเข้าบึงบอระเพ็ดที่เรียกว่าคลองหนองดุก เมื่อลอดใต้สะพานรถไฟเข้าไปก็จะถึงบริเวณบึง

ทางรถยนต์ สามารถเข้าถึงบึงบอระเพ็ดได้ 2 ด้าน คือ
1) หากเข้าทางด้านเหนือ ไปตามเส้นทางสายนครสวรรค์-ชุมแสง ทางหลวงหมายเลข 225 ประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาอีก 2 กิโลเมตร เข้าไปยัง สถานีพัฒนาประมงน้ำจืดบึงบอระเพ็ด ในบริเวณมี ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จัดแสดงตู้ปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ เช่น ปลากระโห้ ปลากระเบนขาว ปลากะพงขาว ปลาเทโพ ปลายี่สก ฯลฯ

    เปิดให้ชมฟรี เวลา 08.30-16.30 น.ในวันธรรมดา และ 09.00-16.30 น.ในวันเสาร์-อาทิตย์ โทร. 0 5623 0183 นอกจากนี้ยังมีบ่อเพาะพันธุ์จระเข้ มีเรือหางยาวนำชมบึง เรือลำเล็กจุได้ 5 คน ไม่รวมคนขับ ราคา 300 บาท เรือลำใหญ่จุได้ 10 คน ราคา 400 บาท เรือจะล่องไปถึงเกาะลัดและกลับใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง สามารถนำอาหารไปรับประทานบนเรือได้ มีเรือบริการระหว่างเวลา 09.00-17.00 น. แต่ถ้าล่องในช่วงแปดถึงเก้าโมงเช้าจะพบนกได้ง่ายกว่า สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีพัฒนาประมงน้ำจืดบึงบอระเพ็ด โทร. 0 5622 1561

2) อีกเส้นทางหนึ่งคือเข้าทางด้านทิศใต้ของบึงบอระเพ็ด จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 3001 สายนครสวรรค์-ท่าตะโก ประมาณ 20 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตามป้ายอีก 4 กิโลเมตร ถึง อุทยานนกน้ำ หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

    ในบริเวณที่ตั้งสำนักงานมีสวนพักผ่อน มีนกหลายชนิดให้ชม เรือหางยาวนำชมบึงบอระเพ็ดค่าบริการเหมาลำ ชั่วโมงละ 200 บาท มีบ้านพักบริการ สอบถามรายละเอียดได้ที่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด หรือสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นที่ตั้งของชมรมดูนกจังหวัดนครสวรรค์ โทร. 0 5622 7874 เปิดทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.

ล่องเรือชมปลาโลมาที่บางปะกง

ล่องเรือชมปลาโลมาที่บางปะกง บริเวณตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง ปลาโลมาจากอ่าวไทยจะตามแหล่งอาหารเข้ามาหากิน เนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคมของทุกปี

     บริเวณนี้จะมีปลาดุกทะเลซึ่งเป็นอาหารโปรดของปลาโลมาเป็นจำนวนมาก ปลาโลมาจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 40-50 ตัว และกระโดดขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำพร้อมๆกัน ครั้งละประมาณ 3-4 ตัว พันธุ์ที่พบมากคือ ปลาโลมาอิรวดี (หัวบาตรหลังมีครีบ) โลมาหลังโหนก โลมาปากขวด รวมทั้งปลาโลมาเผือกที่มีความสวยงาม


    นอกจากนี้ในเส้นทางล่องเรือยังผ่านป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์และ นกนานาชนิด อาทิ นกกาน้ำ นกแสก นกกระยาง นกนางนวล นกกระเต็น ค้างคาวแม่ไก่และลิงแสม เป็นต้น และผ่านเกาะท่าข้ามใกล้กับหมู่ที่ 1ที่ปลาโลมาเข้ามาหาเหยื่อซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 125 ไร่

    จุดลงเรือมี 2 แห่งคือ ท่าเรือหมู่ 1บ้านท่าแหลม และท่าเรือหมู่ 8 บ้านคลองตำหรุ ใช้เวลาล่องเรือ1-2 ชั่วโมง เรือมีหลายขนาด ค่าโดยสาร แบบเหมาลำ ราคา 600-1200 บาทและแบบนั่งรวม ไม่เกิน15 คน ราคาคนละ 180 บาท ควรไปชมช่วงเช้าก่อนเที่ยงหรือช่วงเย็น

ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานเทศบาลตำบลท่าข้าม โทร. 0 3857 3411-8 0 3857 3411-2 ต่อ 19
การเดินทาง1.ใช้ เส้นทางถนนบางนา – ตราด (กรุงเทพฯ – ชลบุรี) ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง กลับรถที่ กม. 53 (จุดกลับรถที่ 2 หลังจากข้ามสะพาน) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางคู่ขนาน สามารถเข้าท่าเรือได้ตามถนนเข้าศูนย์ฝึก อบรม กฟผ. และถนนสุขุมวิท

2. เส้นทางถนนสุวินทวงศ์ จากกรุงเทพ ฯ มาจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนเข้าตัวเมืองเลี้ยวขวาตามถนนฉะเชิงเทรา – บางปะกง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางที่ 1 ที่สะพานคลองอ้อม