วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

เที่ยวเขาใหญ่ ชมสัตว์ป่าไทย

เที่ยวเขาใหญ่ ชมสัตว์ป่าไทย
เที่ยวเขาใหญ่ ชมสัตว์ป่าไทย อุทยาน แห่งชาติเขาใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 2,168 ตารางกิโลเมตรในเทือกเขาพนมดงรัก ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา นครนายก สระบุรี และปราจีนบุรี ป่าเขาใหญ่สมัยก่อนได้รับสมญานามว่า ดงพญาไฟ ที่ทั้งโหดทั้งดิบ

   สำหรับ ผู้ที่ต้องเดินทางผ่านป่าผืนใหญ่ที่กั้นแบ่งเขตภาคกลางและภาคอีสาน จนกระทั่งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2465 ได้มีชาวบ้านประมาณ 30 ครัวเรือนไปตั้งหลักแหล่ง ถางป่าทำนาทำไร่ สันนิษฐานว่าเป็นพวกที่หลบหนีคดีมา ต่อมาพื้นที่เขาใหญ่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 และได้รับสมญาว่าเป็นอุทยานมรดกของอาเซียน



  สภาพทั่วไปของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น บางส่วนของพื้นที่เป็นทุ่งกว้างสลับกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่ามากมายทั้งไม้เศรษฐกิจ ไม้หอม และสมุนไพรต่าง ๆ ภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนประกอบด้วย เขาร่ม ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด 1,351 เมตร และยอดเขาอื่น ๆ ที่สำคัญมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,300 เมตร ได้แก่ เขาแหลม เขาเขียว เขาสามยอด เขาฟ้าผ่าสูง เขากำแพง เขาสมอปูนและเขาแก้ว

  ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นที่สูงชัน ส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกพื้นที่ลาดลง จากระดับความสูงของพื้นที่และความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าดิบ ทำให้เขาใหญ่มีอากาศเย็นสบายแม้ในฤดูร้อน โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 23 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวราวเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเขาใหญ่ มากที่สุด ส่วนในช่วงฤดูฝน สภาพธรรมชาติบนเขาใหญ่ชุ่มช่ำ ป่าไม้และทุ่งหญ้าเขียวขจีสดใส น้ำตกทุกแห่งไหลแรงเสียงดังก้องป่าให้ชีวิตชีวาแก่ผู้ไปเยือนแม้การเดินทาง จะค่อนข้างลำบาก แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย



  ป่าเขาใหญ่มีไม้มีค่าและพืชสมุนไพรนานาชนิดที่สมควรได้รับการดูแลอนุรักษ์ ไว้ พันธุ์ไม้ที่น่าสนใจ เช่น ไทร ซึ่งได้รับสมญานามว่า “นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร” ผลของไทรเป็นอาหารให้สัตว์ป่าหลายชนิดรวมทั้งนกเงือก แต่ในขณะเดียวกันไทรก็เป็นต้นไม้ที่ต้องอิงอาศัยต้นไม้อื่นในการเจริญเติบโต จึงไปแย่งน้ำและอาหารทำให้ต้นไม้นั้นค่อย ๆ ตายไปในที่สุด เตยน้ำ เป็นไม้เลื้อยที่มีกลิ่นคล้ายตะไคร้ภายในมีท่อลำเลียงน้ำขนาดใหญ่สามารถนำมา ดื่มได้ สุรามริด ใช้ดองเหล้าแก้ปวดหลังปวดเอว กะเพราต้น เป็นไม้ใหญ่ยืนต้น แก้เจ็บท้องขับลม เงาะป่า ผลมีขนแข็งสีเหลืองแต่รับประทานไม่ได้ และ กฤษณา ไม้ซึ่งสามารถสกัดเปลือกไปทำเครื่องหอมได้ เป็นต้น

  สัตว์ป่าที่สามารถพบเห็นบ่อยได้แก่ เก้ง กวาง ตามทุ่งหญ้า นอกจากนี้ยังอาจพบช้างป่า หมีควาย หมูป่า ชะนี เม่น พญากระรอก หมาใน ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า รวมทั้งเสือโคร่ง กระทิงและเลียงผาซึ่งก็มีถิ่นอาศัยอยู่ที่เขาใหญ่เช่นกัน อุทยานฯได้สร้างหอสูงสำหรับส่องดูสัตว์อยู่สองจุด คือ บริเวณมอสิงโตและหนองผักชี อนุญาตให้ขึ้นไประหว่างเวลา 8.00-18.00 น. บริเวณที่ตั้งหอดูสัตว์เป็นทุ่งหญ้าซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯจะเผาทุกปีเพื่อ ให้เกิดหญ้าอ่อน หรือหญ้าระบัดขึ้นสำหรับเป็นอาหารสัตว์ และยังมีโป่งดินเค็มที่เป็นแหล่งเกลือแร่ของสัตว์ต่าง ๆ อยู่ด้วย นักท่องเที่ยวที่ต้องการนั่งรถส่องสัตว์ในเวลากลางคืนสามารถติดต่อที่ทำการ อุทยานฯ ก่อนเวลา 18.00 น.

  เขาใหญ่ยังเหมาะเป็นที่ดูนกและผีเสื้อ จากการสำรวจ พบนกจำนวนไม่น้อยกว่า 293 ชนิด และมีอยู่ 200 ชนิด ที่พบว่าอาศัยป่าเขาใหญ่เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยอย่างถาวร นกที่น่าสนใจได้แก่ นกเงือกซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้ว่าป่านั้นยังคงความอุดมสมบูรณ์ ที่พบบนเขาใหญ่มีอยู่ 4 ชนิด นอกจากนั้นยังมีนกที่พบเห็นได้บ่อย ได้แก่ นกขุนทอง นกขุนแผน นกพญาไฟ นกแต้วแล้ว นกโพระดก นกแซงแซว นกเขา นกกระปูด ไก่ฟ้า และนกกินแมลงชนิดต่างๆ ส่วนแมลงที่สวยงามและพบเห็นมากคือ ผีเสื้อซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 ชนิด



     การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ  มีเส้นทางให้เลือกกว่า 20 เส้นทาง ที่ต่างกันทั้งความงามของธรรมชาติ และระยะทาง ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินป่า ซึ่งมีตั้งแต่ 1-2 ชั่วโมง เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติกองแก้ว เส้นทาง กิโลเมตรที่ 33 (ถนนธนะรัชต์-หนองผักชี) หรือที่ต้องเข้าไปพักค้างแรมในป่า เช่น เส้นทางน้ำตกนางรอง-เขาใหญ่ เส้นทางเขาสมอปูน หรือเส้นทางหน่วยฯ ขญ.4-น้ำตกวังเหว เป็นต้น โดยสามารถติดต่อขอรายละเอียดและเจ้าหน้าที่นำทางได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

     สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยาน
  น้ำตกกองแก้ว เป็นน้ำตกเตี้ย ๆ ที่เกิดจากห้วยลำตะคองซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดนครนายก และนครราชสีมา ในฤดูฝนดูสวยงามมาก เหมาะแก่การเล่นน้ำ สามารถเข้าถึงได้โดยการเดินเท้าจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 100 เมตร มีสะพานเชือกทอดข้ามลำน้ำให้บรรยากาศการพักผ่อนที่กลมกลืนและบริเวณใกล้ๆ ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นสั้นๆ

  น้ำตกผากล้วยไม้ เป็นน้ำตกขนาดกลางในห้วยลำตะคองเช่นเดียวกัน ห่างจากที่ทำการฯประมาณ 7 กิโลเมตร สามารถเข้าถึงโดยทางรถยนต์และทางเดินเท้า บริเวณน้ำตกมีกล้วยไม้หวายแดงขึ้นอยู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของน้ำตกแห่งนี้และเป็นน้ำตกที่สายน้ำสองสายไหลผ่านชั้น หินทีละชั้นมาบรรจบกันจากน้ำตกผากล้วยไม้มีทางเดินไปน้ำตกเหวสุวัตได้

  น้ำตกเหวสุวัต เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมากเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ตั้งอยู่สุดถนนธนะรัชต์ รถเข้าถึง จากลานจอดรถเดินลงไปเพียง 100 เมตร หรือจะเดินเท้าต่อจากน้ำตกผากล้วยไม้ไปประมาณ 3 กิโลเมตร จะได้ เห็นสายน้ำตกลงมาจากหน้าผาสูงราว 20 เมตร มีจุดชมน้ำตกในระยะไกลที่สามารถมองผ่านแมกไม้เห็นภาพของน้ำตกทั้งหมดในมุม สูงได้สวยงาม หรือหากต้องการสัมผัสกับสายน้ำตกและแอ่งน้ำด้านล่าง ก็มีทางเดินลัดเลาะลงไปได้ แต่ในช่วงฤดูฝนน้ำจะมาก ไหลแรง และเย็นจัดควรระมัดระวังอันตราย

  น้ำตกเหวไทร-เหวประทุน จากน้ำตกเหวสุวัตมีป้ายบอกทางเดินต่อไปยังน้ำตกสองแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ไม่ ไกลกันนัก เป็นสายน้ำที่เชื่อมต่อกับน้ำตกเหวสุวัต ทางลงสู่น้ำตกชันมากและลื่นโดยเฉพาะหลังฝนตก บรรยากาศโดยรอบร่มรื่นมาก หากเดินไปอย่างเงียบ ๆ ระหว่างทาง อาจได้พบกับสัตว์เล็ก ๆ เช่น นก กระรอก น้ำตกเหวนรก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสูงที่สุดของอุทยานฯ อยู่ห่างจากที่ทำการฯลงมาทางทิศใต้ทางที่จะลงไปปราจีนบุรี โดยต้องเดินเท้าแยกจากทางสายหลักไปประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงจุดชมวิวที่มีมุมมองเห็นน้ำตกได้สวยงาม น้ำตกมีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นแรกสูงประมาณ 60 เมตร เมื่อน้ำไหลผ่านหน้าผาชั้นนี้จะพุ่งลงสู่หน้าผาชั้นที่ 2 และ 3 ที่อยู่ถัดลงไปใกล้ ๆ กันในลักษณะชันดิ่ง 90 องศา รวมความสูงไม่ต่ำกว่า 150 เมตร ในฤดูฝนสายน้ำที่ไหลทะลักไปสู่หุบเหวเบื้องล่างจะแรงมากจนน่ากลัวและเมื่อ กระทบหินเบื้องล่างจะแตกกระเซ็นสร้างความชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณ บริเวณน้ำตกเหวนรกเป็นเขตหากินของช้างป่า ซึ่งช้างมักจะไม่เปลี่ยนเส้นทางหากิน จึงมักเกิดเหตุโศกนาฎกรรมช้างพลัดตกเหวอยู่เนือง ๆ

  น้ำตกไม้ปล้อง เป็นน้ำตกที่พบมานานแต่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ มีทั้งหมด 5 ชั้น ลดหลั่นกันลงมา ชั้นสูงสุดไม่เกิน 12 เมตร มีลักษณะคล้ายคลึงกับน้ำตกเหวนรก หรือน้ำตกเหวสุวัต ตลอดเส้นทางเดินเท้าเรียงรายด้วยโขดหินเล็กใหญ่และลำธารที่สวยงาม การเดินทางไปน้ำตกนี้เริ่มต้นที่วังตะไคร้ จังหวัดนครนายกโดยต้องเดินเท้าระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร ติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางได้ที่หน่วยพิทักษ์ฯ ขญ.9 (นางรอง)

     การเดินทาง  อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 205 กิโลเมตร สามารถไปได้ 2 เส้นทางคือ แยกจากถนนมิตรภาพตรง กิโลเมตรที่ 56 ไปตามถนนธนะรัชต์ประมาณ 23 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ จากกรุงเทพฯ-แยกหินกอง แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 33 (นครนายก-ปราจีนบุรี) ถึงสี่แยกเนินหอมใช้ทางหลวง 3077 ไปถึงเขาใหญ่ เส้นทางที่สองค่อนข้างชันเหมาะที่จะใช้เป็นทางลงมากกว่า หากโดยสารรถประจำทางจากกรุงเทพฯ ให้ลงที่อำเภอปากช่องแล้วต่อรถสองแถวขึ้นเขาใหญ่ บริเวณหน้าตลาดปากช่องรถจะไปถึงตรงแค่ด่านเก็บเงิน ค่ารถ 15 บาท มีบริการระหว่างเวลา 6.00-17.00 น. จากนั้นต้องโบกรถขึ้นไปยังที่ทำการฯ หรือจะเช่ารถจากปากช่องเลยก็ได้

     ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก  บริเวณผากล้วยไม้จัดเป็นสถานที่ตั้งเต็นท์พักแรม ซึ่งรับนักท่องเที่ยวได้กว่า 1,000 คน เสียค่าธรรมเนียม เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท/คืน มีร้านค้าสวัสดิการขายอาหาร และมีเต็นท์และเครื่องนอนให้เช่า นอกจากนั้นยังมีค่ายพักบริการอีก 2 แห่งคือ ค่ายพักกองแก้ว และค่ายพักเยาวชน ซึ่งรับนักท่องเที่ยวได้ รวม 250 คน และเสียค่าธรรมเนียมคนละ 30 บาท ไม่มีเครื่องนอนให้ ติดต่อขออนุญาตที่ที่ทำการฯก่อนเวลา 18.00 น.

  สอบถามรายละเอียดที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปณ.9 อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น